พระพิมพ์ปรกโพธิ์ 9 ใบเนื้อผง หลวงพ่อกวย

พระปรกโพธิ์เก้าใบ หลวงพ่อกวย

     พระพิมพ์ปรกโพธิ์เก้าใบเนื้อผงของหลวงพ่อกวย วัดบ้านแคทั้ง 5 แบบนั้น มีการสร้างพระพิมพ์นี้มาตั้งแต่ก่อนปี 2510 และมีกรรมวิธีการสร้างแบบโบราณ ด้วยแรงมือกดล้วนๆ โดยใช้บล็อกแม่พิมพ์ 3 ชิ้นประกอบกัน คือชิ้นหน้าที่เป็นองค์พระ-ชิ้นหลังตัวกดที่เป็นยันต์หรือพระแม่ธรณี และชิ้นกลางที่เป็นตัวบังคับขนาดเป็นตัวกำหนดขอบพระทั้งสี่ด้าน  พระผงที่กดลงแม่พิมพ์เสร็จแล้ว เมื่อรอจนแห้งพอสมควรจึงถอดออกจากแม่พิมพ์  และก็ไม่น่าจะต้องตัดขอบพระด้วยเครื่องมือใดๆอีก เนื้อด้านข้างที่เกินซุ้มครอบแก้วจึงเป็นตัวพิจารณาได้อีกอย่างหนึ่งว่า ต้องเหลือพื้นที่ข้างเส้นซุ้มเท่ากันทุกองค์      ส่วนการวางแม่พิมพ์ตัวกลางกลับหัว-กลับท้าย จะเกิดช่องว่างด้านข้างเส้นซุ้มที่สลับกันกับกรณีวางแม่พิมพ์ตัวกลางตามปกติ  การนำพระมาเทียบเนื้อข้างเส้นซุ้มครอบแก้วดู  ก็น่าจะเป็นคำตอบอีกเหตุผลหนึ่งของพระที่มีเนื้อข้างเส้นซุ้มแตกต่างกัน    ส่วนพระที่พิมพ์เขยื้อนเกิดจากการถอดพระออกจากแม่พิมพ์ ในขณะที่ยังเนื้อพระไม่แห้งดีพอ และการเขยื้อนของใบโพธิ์หรือองค์พระ  จะต้องไม่เกิดซ้ำในจุดเดียวกันนับสิบๆองค์     

   หากคิดตามหลักการสร้างด้วยพยานวัตถุ พยานหลักฐานที่เป็นจริง ด้วยเหตุผลแบบวิทยาศาสตร์ที่พิสูจน์ได้   ด้านหลังซึ่งใช้แม่พิมพ์อีก 1 ชิ้นกดประทับลงไป และใช้การกดทับด้วยแรงกระทำค่อนข้างมาก เพื่อให้เนื้อพระติดชัดในแม่พิมพ์ด้านหน้า โดยมีแรงกดลงบนแป้นโลหะที่เป็นแม่พิมพ์ชิ้นหลัง ทำให้น้ำหนักแรงกดจะเฉลี่ยได้ใกล้เคียงกันทั่วทั้งกรอบสี่เหลี่ยม  โดยมีกรอบตัวกลางบังคับขอบไว้ทั้งสี่ด้าน   รายละเอียดของพระตามแม่พิมพ์ด้านหน้าก็จะติดสม่ำเสมอกันมากกว่าการกดเนื้อพระด้วยหัวแม่มือ    ซึ่งหากทำแบบนั้นจะทำให้แรงกดไม่เสมอกันทั่วทั้งองค์และเป็นเหตุให้ติดรายละเอียดไม่ชัดเจน    ซึ่งแผ่นของแม่พิมพ์ด้านหลังจะต้องมีขนาดเล็กกว่าแม่พิมพ์ชิ้นกลางเล็กน้อย  เพื่อให้กดลงในช่องบังคับของกรอบชิ้นกลางได้พอดี   ดังนั้น..อย่างน้อยต้องพบร่องรอยตามริมขอบขององค์พระด้านหลังให้เห็น เช่นรอยกด การปริลั่นร้าวของเนื้อที่กดอัด หรือร่องรอยจากครีบที่เนื้อปลิ้นล้นออกมาตามขอบบ้างเล็กน้อย พระผงที่มีอายุตามความเป็นจริง  อย่างน้อยหากไม่ได้ผ่านการใช้มาหนัก จะต้องมีคราบไขและความเก่าตามหลักการพิจารณาผุดขึ้นมาไม่จุดใดก็จุดหนึ่ง และด้วยเนื้อพระที่ผสมน้ำมันและมวลสารอื่นๆอีก เมื่อผ่านเวลามาระยะหนึ่งก็จะมีคราบไขที่ผุดขึ้นมาจากด้านใน  ไม่ใช่คราบที่ทาเคลือบด้านนอก และมีธรรมชาติการหดแห้งตัวของวัสดุตามหลักธรรมชาติให้เห็น ดังนั้นหากมีคราบไขเกิดขึ้นที่ด้านหน้าและด้านหลัง ก็ควรจะต้องมีคราบไขตามธรรมชาติเกิดขึ้นที่ขอบของพระทั้ง 4 ด้านด้วย ยกเว้นพระผ่านการแช่ทำน้ำมนต์หรือใช้โดนเหงื่อไคลมาแล้ว

   การสร้างพระพิมพ์ที่มีแม่พิมพ์เป็นของตัวเองนั้น  เส้นสายต้องติดชัดในทุกสัดส่วนให้ได้พบเจอ ช่างแกะแม่พิมพ์คงไม่แกะให้เส้นขาดๆเกินๆ แหว่งหลุด หรือหนักเบากว่ากันแบบไร้งานศิลปะ  เพราะช่างทุกคนมีจิตวิญญาณของศิลปิน  ก็จะต้องตรวจสอบแม่พิมพ์ที่ทำซ้ำแล้วซ้ำอีกจนกว่าจะพอใจ ดังนั้นใบโพธิ์-ก้านโพธิ์ เส้นลายของใบโพธิ์ จะต้องมีน้ำหนักสม่ำเสมอและติดชัดสวยงามตามที่ควรจะเป็น เป็นไปไม่ได้เลยที่ช่างจะแกะแหว่งๆ หลุดๆหรือติดบ้างไม่ติดบ้างอย่างที่เห็นมากมายตลอดกว่า20ปี  เพราะนี่คือการสร้างพระให้คนนำไปบูชา  ไม่ใช่ทำของเล่น หากท่านเป็นช่างก็ลองคิดดูว่าจะทำอย่างนั้นหรือไม่   ยิ่งหลวงพ่อกวยท่านทำพระแต่ละพิมพ์ล้วนคมชัดลึกสวยงามทั้งสิ้น ลองคิดกลับกันในกรณีเหรียญหนุมานที่มีแม่พิมพ์โลหะและปั๊มกระแทกขึ้นรูป ซึ่งเส้นลวดลายบนเหรียญจะละเอียดเรียวเล็กกว่าพระพิมพ์ปรกโพธิ์เก้ามากนัก  แต่หากดูแล้วเส้นสายตำหนิไม่คมชัดเจน   มีเส้นขาดๆเกินๆหรือเพี้ยนไปจากต้นแบบแม่พิมพ์ คนดูเป็นก็ยังบอกว่าปลอมได้ง่ายๆแค่คำว่าผิดพิมพ์ เส้นขาด ตำหนิไม่ครบ แล้วพระปรกโพธิ์เก้ามีลวดลายบนแม่พิมพ์ใหญ่กว่า ลายเส้นคมชัดลึกมากกว่าหลายเท่าตัว  ทำไมคนบางกลุ่มโดยเฉพาะเซียนรุ่นใหม่บางท่านจึงนิยมว่าพระที่เนื้อยังไม่แห้งสนิท ยังฉ่ำด้วยน้ำมันที่ใช้ผสมเนื้อ  รายละเอียดสำคัญติดไม่ครบ  เส้นสายขาดๆเกินๆ และเลือนรางจางตื้นอย่างนั้นเป็นพระยอดนิยมไปได้   “..แต่พอเจอพระปรกโพธิ์องค์ที่คมลึกชัดตามแม่พิมพ์ต้นแบบ เส้นนูนสูง-นูนต่ำมีตามธรรมชาติงานศิลปะที่แกะด้วยมือ มีเนื้อหาแห้งตามอายุจะห้าสิบปี  มีคราบฝ้าคลุมผิว..”   กลับบอกว่างานสวยแบบนี้ไม่นิยม  เราทุกคนที่พอเข้าใจงานช่าง ก็คงสามารถคิดวิเคราะห์และแยกแยะด้วยตนเองอย่างคนมีสติปัญญาและใช้เหตุผลจากหลักการที่ถูกต้อง ส่วนใครมีภูมิรู้เพียงไหนก็ดูเอาเองครับ

Share:

Author: admin