เหรียญรุ่นแรก หลวงพ่อกวย พิมพ์หน้าแก่

สำหรับเหรียญยุคเก่าของ ลพ.กวย วัดโฆสิตารามนั้น ยังมีเหรียญเนื้อทองฝาบาตรอีกพิมพ์หนึ่งของท่าน ที่คนรุ่นเก่าๆเรียกกันว่า เหรียญ “ พิมพ์หน้าแก่ ” ซึ่งมีรายละเอียดบนเหรียญแตกต่างจากเหรียญแบบนิยม รวมทั้งมีขนาดที่ต่างกันเล็กน้อย แต่มีอายุความเก่าใกล้เคียงกัน ยังไม่ปรากฏหลักฐานว่าสร้างขึ้นในปี พ.ศ.ใด แต่ข้อมูลที่ได้สอบถามจากผู้ที่เคยบวชอยู่กับหลวงพ่อกวยมานานมากกว่า 20 ปี ท่านให้ข้อมูลเดิมไว้ว่า หลวงพ่อกวยเดินทางไปสั่งทำเหรียญรุ่นแรกของท่านเมื่อปี2506 และโรงงานยินยอมให้ทางวัดแบ่งจ่ายค่าเหรียญตามที่จะส่งมอบเป็นงวดๆจนกว่าจะครบจำนวนที่สั่งจ้าง โดยโรงงานที่รับทำเหรียญรุ่นแรกหลวงพ่อกวยที่อยู่ในกรุงเทพ ใช้เวลาในการส่งมอบเหรียญรุ่นแรกเนื้อต่างๆให้กับวัดโฆสิตารามนานกว่า 12 เดือน จึงครบตามจำนวนที่ตกลงสั่งทำ ดังจะพบหลักฐานว่าเหรียญรุ่นแรกไม่ได้ปั๊มในครั้งเดียวพร้อมกันทั้งหมดโดยดูได้จากรายละเอียดบนเหรียญที่แตกต่างกันในแต่ละครั้งของการปั๊ม และการตัดขอบเหรียญก็มีการแก้ไขหลายครั้ง เพราะโรงงานต้องสร้างให้สัมพันธ์กับยอดเงินที่วัดจะมีจ่ายให้ด้วยเช่นกันจึงตั้งเครื่องปั๊มตามจำนวนที่จะจัดส่งแต่ละงวดเท่านั้น ในช่วงเวลาที่คณะกรรมการและลูกศิษย์ทั้งหลายยังเฝ้ารอโรงงานจัดส่งเหรียญรุ่นแรกอยู่นั้น ศิษย์ใกล้ชิดหลวงพ่ออีกท่านหนึ่ง ได้ลองติดต่อให้โรงงานอีกแห่งหนึ่งลองทำเหรียญมาให้บ้าง ในจำนวนเดียวกันกับที่เดินทางไปสั่งทำจากกรุงเทพฯ ซึ่งโรงงานใหม่นี้สามารถจะทำแล้วเสร็จในเวลาเพียง 3เดือน และคิดราคาถูกกว่าโรงงานแรกที่ไปสั่งทำ

ในช่วงเวลาของยุคสมัยนั้น เทคโนโลยีการแกะแม่พิมพ์ การชุบแข็งและสร้างเหรียญจากโรงงานต่างจังหวัด ยังไม่มีประสบการณ์หรือเทคนิคที่ดีพอ จนทำให้ผลงานขาดคุณภาพและไม่สวยงามเหมือนอย่างที่ตั้งใจ ดังนั้น..เมื่อโรงงานนำเหรียญมาส่งมอบให้กับกรรมการวัด จึงมีข้อติเตียนและถกเถียงกันมากในเรื่องคุณภาพของเหรียญที่นำมาส่งมอบ โดยเหรียญเหล่านี้ขาดความสวยงาม มีทั้งแตกราน การปั๊มตัวหนังสือและลายเส้นก็ขาดคุณภาพ ไม่คมชัดและดีเหมือนกันทุกเหรียญ การตัดขอบเหรียญบิดเบี้ยวไม่ตรงตำแหน่งเดิมเหมือนกัน งานไม่ปราณีต หน้าหลวงพ่อไม่เหมือนจริงและไม่มีมาตรฐานที่ดีพอที่จะแบ่งให้เช่าบูชา รูปแบบบนเหรียญก็ต่างกับเหรียญที่สั่งทำจากกรุงเทพ แต่หลวงพ่อกวยก็ได้ใช้เงินส่วนตัวของท่านที่ได้จากกิจนิมนต์มาชำระค่าเหรียญทั้งหมดและถือเป็นของส่วนตัวของท่าน จนทำให้กรรมการและลูกศิษย์ที่ต่างถกเถียงกันในเรื่องการติดต่อจ้างงานที่ไม่มีคุณภาพ และได้ของที่ไม่สวยงามมาต้องหยุดการตำหนิกันเอง และท่านเก็บเหรียญชุดใหม่นี้ไว้ทั้งหมดหลังจากปลุกเสกแล้วโดยไม่ยอมแจกให้ใคร

เหรียญรุ่นนี้เรียกกันในกลุ่มลูกศิษย์ยุคเก่าว่า “ เหรียญฝาบาตรพิมพ์หน้าแก่ ” ซึ่งหลวงพ่อกวยได้เก็บเหรียญนี้ไว้ในกุฏิและท่านได้ปลุกเสกให้เป็นเวลานานหลายปี จนเมื่อมีงานประจำปีของวัดโฆสิตาราม ในเดือนกุมภาพันธ์ปี 2512 (วัดท่านจะมีงานประจำปีและจำหน่ายวัตถุมงคลทุกปีในเดือน3 ) ท่านจึงให้นำเหรียญนี้ลงไปวางจำหน่ายในปะรำพิธี ในตู้วัตถุมงคลของวัดในราคาเหรียญละ 20 บาท ซึ่งตรงกับข้อมูลที่ท่านอาจารย์ทรง รอดเล็ก ได้บอกไว้ว่าตัวท่านเป็นผู้ลงไปบูชาเหรียญนี้เอง จากตู้วัตถุมงคลในปะรำพิธีของงานวัด เมื่อตอนท่านบวชได้ 5 พรรษา (ท่านบวชอยู่กับ ลพ.กวยเมื่อเดือน 7 ปี 2507 – 2518 ) โดยผู้จำหน่ายเหรียญและวัตถุมงคลของ ลพ.กวย ในปะรำพิธีของวัดปี12 มี 5 คน ประกอบด้วย หมอเฉลียว เดชมา , สารวัตรละออง สุขนิล , ลุงยม , หมอฮวด และลุงหล่อน วางจำหน่ายให้คนบูชาบนโต๊ะวัตถุมงคลของวัดในราคาเหรียญละ 20 บาทรวมกับวัตถุมงคลอื่นๆของท่าน แต่คนที่มาในงานวัดมักพูดตำหนิว่า เหรียญหน้าแก่ไม่สวยคมชัดเหมือนเหรียญฝาบาตรที่สั่งทำจากกรุงเทพ ประกอบกับยังเป็นวัดในชนบท คนที่สนใจและมีกำลังจะบูชาจึงมีน้อย ส่วนมากจะหยิบมาลูบคลำและเอามือถูใบหน้าของเหรียญ เมื่อหลวงพ่อกวยเห็นจึงให้เก็บขึ้นไว้ทั้งหมด จะมีที่มอบให้กับศิษย์ใกล้ชิดเพียงไม่กี่ท่าน

โดยเหตุที่เหรียญรุ่นนี้มีความสวยงามด้อยกว่าเหรียญฝาบาตรแบบนิยมมาก ลพ.กวยจึงไม่ได้นำมาจำหน่ายในตู้วัตถุมงคลของวัด แต่ท่านจะพกติดย่ามไว้เสมอครั้งละ 4-5 เหรียญ และเมื่อไปสวดมนต์ขึ้นบ้านใหม่ของใครก็ตาม ท่านจะมอบให้เจ้าของบ้าน 1 เหรียญและหากมีคนต้องการบูชา ท่านก็จะคิดในราคาเหรียญละ 20 บาทเช่นกัน ซึ่งโดยปกติแล้วท่านไม่เคยนำวัตถุมงคลของวัด หรือที่อยู่ในตู้บูชาของวัดมามอบให้ผู้ใดเป็นส่วนตัว ท่านเคร่งครัดและระมัดระวังในเรื่องเงินของวัดเป็นอย่างยิ่ง หากท่านจะมอบวัตถุมงคลให้กับผู้ใดเป็นส่วนตัว ท่านจะไปหยิบจากห้องนอนในกุฏิของท่านเท่านั้น รวมทั้งเหรียญพิมพ์หน้าแก่นี้ซึ่งถือเป็นของส่วนตัว เพราะเป็นเหรียญที่ท่านใช้เงินส่วนตัวชำระค่าจ้างทำทั้งสิ้น ดังนั้นจึงมักพบเหรียญพิมพ์หน้าแก่นี้อยู่กับลูกศิษย์ยุคเก่าๆ ตกอยู่กับลูกหลานของท่านและพบเจอตามบ้านเรือนคนในละแวกใกล้เคียง และในภายหลังท่านจึงได้มอบเหรียญนี้เป็นชนวนหลอมรวมกับเนื้อโลหะอื่นๆเพื่อสร้างรูปหล่อเท่าองค์จริงของท่านที่ตั้งให้เราได้กราบไหว้หน้าวัดจนทุกวันนี้ หลักฐานและพยานบุคคลหนึ่งที่มีให้เห็นทุกวันนี้คืออาจารย์ทรง รอดเล็ก เมื่อครั้งที่ยังบวชอยู่กับหลวงพ่อกวย ยังได้ลงไปบูชาจากโต๊ะวัตถุมงคลมา 1เหรียญ และได้ฝากให้หลวงพ่อกวยจารกำกับพร้อมแขวนบูชามาจนถึงทุกวันนี้ ยังพบที่ศิษย์รุ่นเก่าอีกหลายท่านล้วนแต่แขวนบูชาอยู่ในคอทั้งสิ้น พบเจอที่มหาแก้ว ผู้ที่เคยบวชอยู่วัดบ้านแคตั้งแต่ยุคหลวงพ่อ รวมทั้งพบเจอในลังเก็บพระยุคเก่าของคุณหมอเฉลียว เดชมา ศิษย์ใกล้ชิดของท่านด้วยเช่นกัน แต่เหรียญนี้ไม่ได้มีวางเกลื่อนให้พบเจอง่ายๆบนแผงพระเช่นเหรียญปลอมทั้งหลาย

หากดูโดยละเอียดแล้วจะพบว่าเนื้อเหรียญเป็นโลหะเก่ามีอายุ และรูปหน้าหลวงพ่อ รูปแบบตัวหนังสือก็ไม่เหมือนเหรียญนิยมปัจจุบัน มีความแตกต่างกับเหรียญรุ่นแรกแบบนิยมสากลหลายจุดใหญ่ๆ จึงไม่เป็นการถอดแบบมาสร้างหรือทำเลียนแบบ แต่เป็นการสร้างโดยมีแม่พิมพ์ของตัวเอง ผิวเหรียญมีลักษณะแห้งซีด ไม่แวววาวสดใส มีคราบสนิมความเก่าจับตามพื้นผิวเป็นจุด ไม่มีรูพรุนของฟองอากาศ มีเส้นสายฝนของแม่พิมพ์ให้เห็น ข้อมูลเหล่านี้ขอบันทึกไว้เพื่อประกอบการพิจารณาของคนที่สนใจศึกษาเรื่องราวของหลวงพ่อกวย เป็นข้อมูลจากการสืบค้นพระแท้ตกสำรวจจากคนรุ่นเก่าสมัยก่อน

ซึ่งเหรียญที่อาจารย์ทรงได้บูชาจากปะรำพิธีเมื่อปี 2512ในราคา 20 บาทนั้น ท่านได้เก็บรักษาและแขวนบูชาติดตัวมาจนทุกวันนี้ แม้จะมีผู้เสนอราคาขอแบ่งบูชาต่อในจำนวนเงินที่สูงมาก แต่ท่านก็ไม่ได้แบ่งให้ใครเพราะเป็นเหรียญที่ท่านลงไปบูชาด้วยตัวเอง อีกทั้งหลวงพ่อกวยยังจารกำกับให้อีกด้วย ปัจจุบันเหรียญนี้ยังอยู่ในสร้อยเส้นหลักที่ท่านใช้ประจำตัวทุกวัน ซึ่งเหรียญพิมพ์นี้ในสร้อยของท่าน ก็มีคนเคยเห็นหลายคนแล้ว เพียงแต่อาจารย์ทรงไม่ได้ให้ข้อมูลแก่ใครเพราะทุกคนมุ่งหมายจะหาแต่เหรียญแบบนิยม จึงมองว่าเป็นเหรียญปลอมเพราะมีตำหนิและรูปแบบต่างจากเหรียญแบบนิยม จนเมื่อคณะจัดทำหนังสือมรดกหลวงพ่อกวยไปพบเจอว่า เป็นเหรียญในพวงสร้อยหลักของท่าน จึงได้ซักถามข้อมูลโดยละเอียด จึงทราบว่าเป็นของดีที่หายากอีกอย่างหนึ่ง สมควรแก่การเผยแพร่ให้คนได้รู้จักของแท้และสร้างทันยุคสมัยหลวงพ่อกวย

หมายเหตุ…พระเครื่องทั้งหมดในพวงนี้เป็นพระของ ลพ.กวย เป็นพระเครื่องที่ใช้ประจำตัวของอาจารย์ทรง รอดเล็ก (อดีตรองเจ้าอาวาสวัดบ้านแค) มีทั้งเหรียญรุ่นแรกเนื้ออัลปาก้า เหรียญฝาบาตรพิมพ์หน้าแก่ที่ปั๊มเขยื้อนจนเกิดเส้นซ้อน เหรียญรัชกาลและพระยุคต้นอีกหลายพิมพ์

 

Share: