เหรียญรุ่นแรก หลวงพ่อกวย เนื้อตะกั่วลองพิมพ์ (1)

เหรียญรุ่นแรก ลพ.กวย เนื้อตะกั่วตามที่เห็นอยู่นี้ เป็นเหรียญปั๊มลองพิมพ์ ที่เกิดขึ้นหลังจากช่างได้ทำการแก้ไขปรับแต่งแม่พิมพ์จนพอใจแล้ว ก่อนจะปั๊มจริงลงบนแผ่นโลหะเนื้อทองผสม และกลายเป็นเหรียญรุ่นแรกเนื้อทองฝาบาตรตามที่เราเห็นกันทั่วไปทุกวันนี้ แต่หากพิจารณาโดยละเอียดแล้วจะพบว่า เหรียญลองพิมพ์เนื้อตะกั่วนี้เป็นการปั๊มออกมาจากแม่พิมพ์ชิ้นเดียวกับที่ใช้ปั๊มเหรียญเนื้ออัลปาก้าและเนื้อทองฝาบาตรมาก่อนหน้า โดยมีหลักฐานอยู่ที่ markingเล็กๆหลายจุดที่อยู่ด้านหน้าของเหรียญ ซึ่งเป็นตำหนิในแม่พิมพ์ที่ใช้ทำการปั๊มเหรียญชุดแรกๆ และตำหนิเล็กๆเหล่านี้ได้กลายเป็นหลักฐานพยานวัตถุที่สามารถเชื่อมโยงให้ทราบว่า เหรียญเนื้อตะกั่วลองพิมพ์แบบนี้ ถูกปั๊มออกมาในยุคเดียวกันกับเหรียญเนื้ออัลปาก้าและเนื้อฝาบาตรยุคนั้น และแม่พิมพ์ที่มีตำหนิบนชิ้นงานเหล่านี้ ก็ได้รับการเซาะแต่งปรับปรุงแก้ไขตลอดเวลาในการใช้ปั๊มสร้างเหรียญรุ่นแรก จนไม่เหลือร่องรอยเล็กๆเหล่านี้ให้เห็นในเหรียญที่ปั๊มออกมาชุดหลังๆอีกเลย ดังจะเห็นอีกหลายจุดที่ขาดหายไปบนเหรียญรุ่นแรกของท่านที่ถูกปั๊มออกมาช่วงท้ายๆของการสร้าง

ตามกรรมวิธีการแกะแม่พิมพ์โลหะ และการปั๊มเหรียญตั้งแต่ยุคสมัยก่อนเป็นต้นมา ล้วนต้องมีการทดสอบแม่พิมพ์เพื่อตรวจรายละเอียดต่างๆ ด้วยการทดลองปั๊มกับโลหะที่มีเนื้ออ่อน และโลหะที่ใช้ปั๊มลองพิมพ์กันตลอดมาคือแผ่นตะกั่ว เพราะเป็นโลหะที่มีความแข็งน้อย จะไม่ทำให้รายละเอียดของแม่พิมพ์เสียหาย ทั้งยังสามารถเก็บรายละเอียดได้ชัดเจน มีราคาถูกพอที่จะลองทำซ้ำๆกันได้หลายครั้ง ทั้งหมดนี้เพื่อตรวจดูความสมบูรณ์ของแม่พิมพ์ เมื่อยังไม่สมบูรณ์ดีพอ ก็จะนำแม่พิมพ์ชิ้นนั้นไปแก้ไขและนำกลับมาปั๊มลองพิมพ์เพื่อตรวจสอบอีกครั้ง ไม่เฉพาะการลองพิมพ์เฉพาะแม่พิมพ์ด้านหน้าหรือด้านหลังเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการทดสอบตัวตัดขอบเหรียญอีกด้วย และช่างจะทำแบบนี้ไปจนกว่าจะแก้ไขจนได้งานที่พอใจ รวมทั้งเมื่อแม่พิมพ์ที่ใช้งานจริงไประยะหนึ่งแล้วเกิดชำรุดส่วนใดส่วนหนึ่งจนต้องหยุดการทำงานและแก้ไข ก็จะใช้ตะกั่วมาลองพิมพ์อีกเช่นเดิม แต่ไม่ว่าจะสร้างเป็นเนื้อใดก็ตาม จะต้องลองปั๊มด้วยเนื้อตะกั่วเพื่อลองดูแม่พิมพ์และความสมบูรณ์แบบของการปั้ม การตั้งเครื่องจักรและข้อบกพร่องในแต่ละอย่างจนพอใจ ดังนั้นเหรียญลองพิมพ์เนื้อตะกั่วจึงมีมากกว่า 20-30 เหรียญ แม้แต่เหรียญรุ่นแรกครูบาศรีวิชัยปี2482 ยังมีเนื้อตะกั่วลองพิมพ์นับร้อยเหรียญ เพราะมีการแก้ไขแม่พิมพ์ที่แตกชำรุดหลายครั้ง จึงต้องปั๊มลองพิมพ์เพื่อดูงานที่แก้ไขแต่ละขั้นตอน ด้วยเหตุนี้จึงเป็นที่มาของเหรียญลองพิมพ์เนื้อตะกั่ว และมีเช่นนี้ทุกเหรียญพระเกจิอาจารย์

 

 

ปกติแล้วเหรียญลองพิมพ์เนื้อตะกั่วของพระเกจิอาจารย์ต่างๆมักจะถูกมองข้ามโดยไม่มีคนสนใจและไม่มีค่านิยมในการสะสม เพราะมักคิดกันว่าไม่ใช่เหรียญที่ตั้งใจสร้าง คงไม่ผ่านการปลุกเสกหรือเป็นเหรียญที่ชำรุดเสียหาย เว้นเสียแต่จะมีผู้ยืนยันว่า เหรียญลองพิมพ์เนื้อตะกั่วของพระเกจิองค์ใดผ่านการปลุกเสกเหมือนเหรียญเนื้ออื่นที่จัดสร้างเช่นกัน ถ้ากรณีแบบนี้ก็จะทำให้เนื้อตะกั่วแพงกว่าเนื้อปกติไปเสียอีก เพราะมีน้อยและหายากกว่านั่นเอง หากมีการจารกำกับไว้ก็ยิ่งถือเป็นออฟชั่นพิเศษที่หายากกว่าปกติมากเป็นเท่าตัว ดังเช่นเหรียญรุ่นแรก ลพ.กวยเนื้อตะกั่วลองพิมพ์บางเหรียญที่มีการจารกำกับไว้ อาจมีรอยจารที่ด้านหน้าหรือด้านหลัง หรือจารกำกับให้ทั้งด้านหน้าและหลังเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งลายมือที่จารกำกับก็เป็นหลักฐานทางนิติวิทยาศาสตร์ที่ใช้พิสูจน์ได้อย่างดีว่า เหรียญแบบนี้ผ่านมือ ลพ.กวยมาจริงหรือไม่ เมื่อให้ผู้มีความถนัดในการตรวจพิสูจน์ช่วยพิจารณาก็ได้คำตอบว่าเป็นลายมือจากคนเดียวกัน

หากนับตั้งแต่แม่พิมพ์ชุดแรกที่ใช้สร้างเหรียญเนื้ออัลปาก้า เมื่อเทียบกับหลายๆเหรียญที่ออกมาช่วงหลังๆนี้ จะเห็นชัดเลยว่ามีความแตกต่างกันมากกว่า 34 ตำแหน่งแยกเป็นความแตกต่างในรายละเอียดจากแม่พิมพ์ 18 จุด จากตำหนิที่หายไป 6 จุด ที่เหลือจากการเซาะแต่งและการตัดขอบ ส่วนเหรียญลองพิมพ์เนื้อตะกั่วนั้น จะพบว่าเป็นไปในลักษณะของการแก้ไข แล้วทดลองงาน มีการส่งถ่ายตำหนิในแต่ละชิ้น แต่ละเวอร์ชั่น แม้แต่การตั้งเครื่องปั๊มและตัวตัด เมื่อเหรียญยังไม่เรียบร้อยทั้งแม่พิมพ์หน้า-หลัง ก็จะยังไม่ตั้งตัวตัดขอบ จะไม่ใช่การรวมตำหนิทั้งหมดไว้ในชิ้นเดียวกัน ซึ่งเป็นไปตามหลักการสร้างงานของช่างทำเหรียญ ถ้าเป็นการจงใจทำของปลอมขึ้นมา ก็จะต้องเน้นตำหนิให้มีครบตามที่มีคนชี้นำอยู่ในปัจจุบัน จะไม่ใช่การแก้ไขงานแต่ละช่วงของการสร้างที่มีร่องรอยของตำหนิจากแม่พิมพ์ครั้งแรกไล่เรียงมาจนถึงช่วงสุดท้ายอย่างที่เห็น ยิ่งเมื่อได้เห็นเหรียญเนื้อตะกั่วหลายๆเหรียญ ก็สามารถนำมาเชื่อมต่อช่วงเวลาของการสร้างงานได้อย่างไม่ยาก รายละเอียดยังมีอีกมาก ซึ่งเข้าใจได้ด้วยหลักการทำงานของช่างและหลักวิทยาศาสตร์

คุณสมบัติเบื้องต้นของเหรียญรุ่นแรก ลพ.กวย เนื้อลองพิมพ์

ต้องเป็นเหรียญปั๊มเท่านั้น

ต้องเป็นบล็อคนิยมเท่านั้น

ต้องปั๊มมาจากแม่พิมพ์เหรียญนิยมเท่านั้น

ต้องมีสัญลักษณ์จากแม่พิมพ์เดิมให้เห็นบ้าง

ทุกเหรียญ จะต้องไม่มีรายละเอียดเหมือนกัน

ต้องมีความเก่าจริง  มีความแห้งตัวตามอายุขัย

ต้องเป็นเหรียญลองพิมพ์  ไม่ใช่เหรียญตั้งใจพิมพ์

 

คุณกมล พลพิทักษ์กุลหรือเสี่ยตี๋ ศิษย์คนโปรดของหลวงพ่อกวยที่มีบันทึกอยู่ในข้อมูลจากศิษย์ยุคเก่าหลายๆคนว่า ท่านเป็นคนที่ ลพ.กวยเมตตาและเอ็นดูมาก เมื่อคราวที่หลวงพ่อมอบเหรียญรุ่นแรกเนื้อทองฝาบาตรให้เสี่ยตี๋ หลวงพ่อยังได้บอกให้เสี่ยตี๋รู้ไว้ว่า เหรียญรุ่นแรกของท่านแบบนี้ยังมีเนื้อลองพิมพ์ด้วย ซึ่งก็คือเหรียญเนื้อตะกั่วนั่นเอง นั่นหมายถึงเป็นเหรียญที่หลวงพ่อกวยปลุกเสกให้เหมือนเหรียญเนื้อทองฝาบาตรทุกอย่าง นักสะสมมืออาชีพบางราย ให้ความสำคัญกับเหรียญเนื้อตะกั่วมาก เพราะดูง่ายว่าปั๊มออกมาจากแม่พิมพ์เดียวกับที่ใช้ปั๊มเหรียญอัลปาก้าและเหรียญฝาบาตรชุดแรกๆ ถ้าแม้นจะมีใครได้แม่พิมพ์จากโรงงานแล้วนำมาทำเสริมขึ้นใหม่หลังจาก ลพ.กวยมรณภาพแล้ว ก็จะได้เหรียญที่ไม่เหมือนยุคแรกๆของการสร้าง เพราะจุดmarking หลายตำแหน่งที่เคยมีอยู่ก็ถูกเซาะแต่งจนหายไปหมดก่อนหน้าแล้ว ทำให้เหรียญแบบนี้แท้และดูง่ายว่าทันยุคสมัยของ ลพ.กวย ใช้แขวนบูชาได้อย่างสบายใจ แต่ที่สำคัญที่สุดคือ…เหรียญลองพิมพ์จะต้องเป็นเหรียญปั๊มจากแม่พิมพ์เท่านั้น ไม่ใช่เหรียญหล่อที่ถอดแบบขึ้นมา

 

คนที่เข้าใจหลักการพิจารณาตามวิธีการสร้างเหรียญ การแกะแม่พิมพ์ เมื่อเห็นเหรียญเหล่านี้ที่เป็นหลักฐานทั้งพยานวัตถุและพยานบุคคล เขาย่อมรู้ว่าแบบใดเป็นของที่เกิดขึ้นตามวิธีการสร้างที่ถูกต้องมาแต่ก่อน หรือเป็นของเจตนาทำขึ้นมาใหม่ บางคนก็จะไม่เข้าใจด้วยซ้ำว่าทำไมบางเหรียญจึงตัดขอบกินข้าง ทำไมขอบนูนด้านหลังเหรียญถึงหนาไม่เหมือนกัน ทำไมบางเหรียญจึงมีปลายแหลมของกรอบเส้นยันต์ด้านหลังชี้เบี่ยงจากหูเหรียญมากมาย บางเหรียญชี้ไปทางซ้าย บางเหรียญปลายแหลมชี้ตรงกลางหูเหรียญพอดี บางเหรียญชี้ไปทางขวา หรือทำไมมุมตัดข้างหูเหรียญจึงเป็นรอยตัดแตกต่างกัน ซึ่งทั้งหมดนี้สัมพันธุ์กันมาตั้งแต่การปั๊มครั้งแรก มาจนถึงชุดท้ายๆของการปั๊มเหรียญรุ่นแรก นับตั้งแต่แม่พิมพ์ที่ใช้ปั๊มเป็นชุดแรกๆ จนถึงชุดท้ายๆของเหรียญรุ่นแรกเนื้อฝาบาตร มีความแตกต่างกันของรายละเอียดในเหรียญอีกมากหลายตำแหน่ง ยังไม่พูดถึงเหรียญที่นำมาซื้อขายกันหลายๆแสนที่มีหลายอย่างผิดไปมาก และไม่มีร่องรอยจากDNA เดิมของแม่พิมพ์เก่าแม้แต่สักอย่างเดียว แต่ถ้าหากเจอเหรียญลองพิมพ์เนื้อตะกั่ว ที่มีตำหนิ มีรูปแบบการปั๊ม การตัดหู การตัดขอบตรง 7นาฬิกา มีปลิงแตกและรายละเอียดบนเหรียญทั้งหน้าและหลังเหมือนกับเหรียญฝาบาตรนิยมปัจจุบันทุกอย่าง ก็ผ่านไปได้เลย แม้จะเก่าขนาดไหนก็ตาม เพราะนั่นไม่ใช่เหรียญที่ลองพิมพ์

Share: