เหรียญรุ่นแรก หลวงพ่อกวย เนื้อตะกั่วลองพิมพ์ (5)

เหรียญรุ่นแรก ลพ.กวย เนื้อตะกั่วลองพิมพ์ ที่จารอักขระ

หลายคนมีความเชื่อว่า การจารกำกับบนวัตถุมงคลจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้ที่นำไปใช้บูชา  เพราะคนที่ได้รับวัตถุมงคลในยุคสมัยต่อไป  อาจไม่เชื่อมั่นว่าจะมีการปลุกเสกมาแล้วจริงหรือไม่ การมองเห็นรอยจารกำกับจะทำให้มั่นใจขึ้นมาว่า ของชิ้นนี้ได้เคยผ่านมือของพระเกจิองค์นั้นๆมาแล้ว  และจะเกิดความเชื่อมั่นในรอยจารอักขระที่เห็น  แต่พระเครื่องจะมีพุทธคุณมากหรือน้อย ต้องมีองค์ประกอบหลายประการ

  1. พิธีพุทธาภิเษก การปลุกเสก ทำถูกต้องตามกฤษ์ยามหรือไม่
  2. พระเกจิที่ร่วมปลุกเสกเป็นพระสุปฏิปันโน เป็นผู้ศีลบริสุทธิ์ และเก่งจริงหรือไม่
  3. ผู้ครอบครองบูชา นำไปใช้ในทางที่ถูกที่ควรหรือไม่ ทำจิตให้ถึงพระได้มากแค่ไหน

  อักขระหัวใจพระคาถาต่างๆนั้นจะไม่มีความหมายเฉพาะตัว  เพราะว่าพระคณาจารย์ท่านถอดมาจากบทเต็มของแต่ละพระคาถา  ดังนั้นจึงแปลความหมายไม่ได้   เพียงแต่ให้รู้ว่าหัวใจนั้นๆคืออะไร เช่นหัวใจเสือสมิง  “กุรุสุกุ” เป็นต้น   โดยปกติพระคาถาต่างๆก็จะไม่แปลกัน  เพราะว่าเมื่อแปลและรู้ความหมายตามบาลีแล้วก็ไม่มีอะไรพิสดาร  จิตเราอาจจะเสียกำลังความศรัทธาจนอาจจะขาดความเชื่อมั่นถือมั่นได้  ยกตัวอย่างพระคาถา “อิติปิโส” บทสรรเสริญพุทธคุณ เมื่อแปลความหมายแล้ว  ก็เพียงแค่สรรเสริญในคุณของพระพุทธเจ้า  แต่ทว่าครูอาจารย์ท่านได้ถอดมาเป็นคาถาอย่างพิสดาร นับร้อยๆพระคาถาและใช้ได้ผลอย่างมาก  ซึ่งถ้าเราสังเกตดีๆจะไม่ค่อยพบพระเกจิที่เป็นพระมหาเปรียญ  เพราะว่าพระมหาเปรียญเหล่านั้นแปลคาถาออก และทำให้ไม่เชื่อถือคาถาเหล่านั้น  ดังนั้นจึงทำของได้ไม่ขลัง

 

ตัวอย่าง หัวใจพระคาถาต่างๆ

หัวใจพระอภิธรรม ๗ คัมภีร์ สัง วิ ธา ปุ กะ ยะ ปะ

หัวใจพระสูตร คือ ทีมะสังอังขุ

หัวใจพระวินัย คืออาปามะจุปะ

หัวใจสัตตะโพชฌงค์ คือ สะธะวิปิปะสะอุ

หัวใจพระรัตนตรัย คืออิสะวาสุ

หัวใจพาหุง คือ พามานาอุกะสะนะทุ

หัวใจพระพุทธเจ้า คืออิกะวิติ

หัวใจปฏิสังขาโย คือ จิปิเสคิ

หัวใจพระไตรปิฎก คือสะระณะมะ

หัวใจยอดศีล คือ พุทธะสังมิ

หัวใจธรรมบท ( เปรต ) คือทุสะนะโส

หัวใจปถมัง คือ ทุสะมะนิ

หัวใจอิธะเจ คืออิทะคะมะ

หัวใจตรีนิสิงเห คือ สะชะฏะตรี

หัวใจสนธิ คืองะญะนะมะ

หัวใจแม่พระธรณี คือ เมกะมุอุ

หัวใจยะโตหัง คือนะหิโสตัง

หัวใจพระกุกกุสันโธ คือ นะมะกะยะ

หัวใจพระโกนาคมน์ คือนะมะกะตะ

หัวใจพระกัสสป คือ กะระมะถะ

หัวใจสังคะหะ คือ จิเจรุนิ

หัวใจนอโมคือ นะอุเออะ

หัวใจไฟ คือ เตชะสะติ

หัวใจลม คือ วายุละภะ

หัวใจบารมี คือผะเวสัจเจเอชิมะ

หัวใจน้ำ คือ อาปานุติ

หัวใจดิน คือปะถะวิยัง

หัวใจวิรูปักเข คือ เมตะสะระภูมู

หัวใจพระปริตร คือสะยะสะปะยะอะจะ

หัวใจพระนิพาน คือ สิวังพุทธัง

หัวใจยานี คือยะนิรัตนัง

หัวใจกรณีเมตตสูตร คือ เอตังสะติง

หัวใจวิปัสสนา คือวิระสะติ

หัวใจมงคลสูตร คือ เอตะมังคะลัง

หัวใจอายันตุโภนโต คือ อานิชะนิ

หัวใจมหาสมัย คือ กาละกัญธามหาภิสะมา

หัวใจเสฎฐัน คือเสพุเสวะเสตะอะเส

หัวใจปาฏิโมกข์ คือ เมอะมะอุ

หัวใจเพชรสี่ด้าน คืออะสิสัตติปะภัสมิง

หัวใจศีลสิบ คือ ปาสุอุชา

หัวใจอริยสัจ ๔ คือทุสะนิมะ

หัวใจธรรมจักร์ คือ ติติอุนิ

หัวใจนิพพานจักรี คืออิสะระมะสาพุเทวา

หัวใจทศชาติ คือ เตชะสุเนมะภูจะนาวิเว

หัวใจธาตุทั้ง ๔ คือนะมะพะทะ

หัวใจธาตุพระกรณีย์ คือ จะภะกะสะ

หัวใจพระกรณีย์ คือจะอะภะคะ

หัวใจปลายศีล คือ อิสะปะมิ

หัวใจกินนุสัตรมาโน คือกะนะนะมา

หัวใจพระยายักษ์ คือ ภะยะนะยะ

หวัใจภาณยักษ์ คือกะยะพะตัง

หัวใจอาวุธพระพุทธเจ้า คือ ปะสิสะ

หัวใจนะโม คือนะวะอัสสะ

หัวใจกะขะ คือ กะยะนะอัง

 

สำหรับเหรียญรุ่นแรก ลพ.กวย เนื้อตะกั่วลองพิมพ์นั้น เป็นการจารกำกับในเวลาเดียวกันแทบทั้งหมด หลังจากท่านปลุกเสกเดี่ยวแล้ว  ก่อนที่ท่านจะยกเหรียญทั้งถุงมาให้ศิษย์ของท่านทาเคลือบด้วยน้ำมันเสือและแป้งเจิม  เพราะบางเหรียญที่ยังไม่ผ่านการล้าง จะพบรอยจารของท่านอยู่ใต้แป้งและคราบสนิมที่ขึ้นคลุมไว้หนาทึบ  ต่อเมื่อล้างคราบออกแล้วจึงจะรู้ว่าท่านจารไว้ว่าอะไรบ้าง   หากเราลองตั้งข้อสังเกตว่า ทำไมบางเหรียญจึงมีรอยจารและบางเหรียญไม่มีรอยจารอักขระเลยสักตัว  ทำไมพระคาถาบทเดียวกันแต่จารสลับกันก็ยังมี    สำหรับผู้เขียนเองเชื่อว่าเหรียญที่มีรอยจารและไม่มีรอยจารนั้น  จะต้องมีความหมายต่างกันไม่มากก็น้อย   ไม่อย่างนั้นแล้วพระเกจิท่านจะจารกำกับให้เหนื่อยยากไปเพื่ออะไร  เพราะการจารกำกับลงบนเหรียญในสมัยก่อน คงไม่ใช่เพื่อจะทำให้มีราคาแพงเหมือนที่นิยมกันในสมัยนี้   การบริกรรมกำหนดจิตเดินคาถากำกับอักขระแต่ละบทแต่ละคาบ(อึดใจ)  จิตต้องนิ่งสงบและแม่นยำต่อการบริกรรมบทเต็มของพระคาถา  สมาธิจิตต้องสูงมาก เพราะมือต้องเขียน ปากต้องบริกรรม  หากจะทำแบบให้เป็นสัญลักษณ์วันหน้า ก็เพียงเขียนอักขระลงไปสัก 2ตัวเหมือนๆกันทุกเหรียญก็น่าจะพอแล้ว ไม่ต้องเหนื่อยและยุ่งยากท่านด้วย ยิ่งการตั้งใจทาน้ำมันเสือและแป้งเจิมไว้ด้วย  ย่อมแสดงว่าท่านเจตนาให้เป็นเมตตามหานิยมและมหาอำนาจเพิ่มเติมอีก  เป็นความตั้งใจจริงแม้จะยุ่งยากและลำบากกว่าปกติที่เคยสร้างเหรียญอื่นๆทุกแบบของท่านก็ตาม

 

เหรียญลองพิมพ์ที่ปั๊มยันต์ด้านหลังครบถ้วนแล้ว  ยังไม่พบว่ามีรอยจารอักขระใดๆอีก จะมีรอยจารกำกับเพียงเหรียญหลังเรียบ โดยมีทั้งแบบที่จารกำกับด้านหน้าและด้านหลัง หรือจารด้านหลังเพียงด้านเดียวเท่านั้น   และมีรูปแบบของอักขระที่จารกำกับไว้แตกต่างกัน เป็นลายมือยุคต้นๆของท่านชัดเจน  สำหรับอักขระด้านหลังของเหรียญรุ่นแรก ลพ.กวย เนื้อตะกั่วลองพิมพ์  มักจะเป็นคาถานะโมตาบอดที่อยู่ในตำราแก้วสารพัดของท่าน   จะเป็นการจารเรียกพระคาถามากำกับลงบนเหรียญ ซึ่งพระคาถาที่บรรจุไว้ด้านหลังเหรียญรุ่นสองของท่านคือ   “ นะโมตันติสะโก  นะโมตันติตันติสะโก  นะโมตันตันติ ”   แค่พระคาถาบทนี้หลวงพ่อกวยเขียนไว้ที่ปฏิทินก่อนที่ท่านจะมรณภาพ คือ “นะตันโต นะโมตันติ ตันติตันโต นะโมตันตัน”    พระคาถาบทนี้นอกจาก 2แบบที่หลวงพ่อกวยท่านใช้แล้ว ยังมีพระคาถานะโมตาบอดตามตำราของ อ.เทพย์ สาริกบุตร อีกแบบหนึ่ง คือ “ตันติตันโต นะโมตันติ ตันติถะโก นะโมนะนะ”   บางเหรียญจึงอาจพบว่า อักขระด้านหลังแตกต่างกันไปบ้างตามแต่ท่านจะกำหนดใช้บทไหนมาจารลงไว้    แต่รวมความแล้ว พระคาถานี้มีพุทธคุณดีทางด้าน แคล้วคลาด กำบัง มหาอุดมาแต่โบราณแล้ว  การเขียน การท่อง คงไม่ส่งผลเท่าใดนัก แต่การลงอำนาจจิตกำกับและตรึงไว้นั้นสำคัญที่สุด   

ส่วนด้านหน้าเหรียญเท่าที่พบเจอแล้วนั้น  ท่านจะลงจารกำกับด้วยหัวใจพระคาถาแตกต่างกันไป และเป็นการลงจารด้วยกสิณ คือการเพ่งและกำหนดอารมณ์  ส่วนจะเป็นฌานในกสิณทั้ง 10 กองหรือไม่นั้น  พวกเราคนที่ยังมีกิเลสหนาคงไม่มีความสามารถจะรู้ได้ และเท่าที่พบเจอรอยจารอักขระบนเหรียญเนื้อลองพิมพ์แล้ว จะมีการจารไว้ดังนี้

 

 อุ อา กะ สะ  หัวใจเศรษฐี

คาถาเศรษฐี ที่องค์สัมมาสัมพุทธเจ้าทรงสอน และมีปราชญ์สรุปไว้เป็นคำย่อว่า คือ อุ อา กะ สะ

อุ – มาจากคำว่า อุฏฐานสัมปทา คือพร้อมด้วยความขยันหมั่นเพียรในการประกอบสัมมาอาชีพ หรือจำง่ายๆว่า ขยันหา

อา – มาจากคำว่า อารักขสัมปทา คือการเก็บรักษาทรัพย์สินที่ได้มาโดยชอบธรรม หรือจำง่ายๆว่า ขยันเก็บ

กะ – มาจากคำว่า กัลยาณมิตตา คือการคบหาสมาคมกับคนดีมีคุณธรรม มีน้ำใจ และเป็นเพื่อนที่ไม่พาไปผลาญทรัพย์ หรือจำง่ายๆว่า เลือกคบ

สะ – มาจากคำว่า สมชีวิตา คือการใช้จ่ายอย่างประหยัดพอเพียง ใช้ชีวิตสมถะ ไม่ฟุ่มเฟือย หรือจำง่ายๆว่า เลือกใช้

 อุ อา กะ สะ คือ ขยันหา ขยันเก็บ เลือกคบ เลือกใช้ ทั้งสี่คำนี้ ต้องจำไว้และทำให้ได้ จะรวยได้ รวยดี มีเงินเก็บ ชีวิตเป็นสุข   พระคาถาบทนี้ถูกนำมาใช้กันหลากหลาย หากใครมีเหรียญที่จารอักขระนี้อยู่  เมื่อจะใช้บูชาก็ก็กำหนดจิตให้นิ่ง แล้วบริกรรมเป็นบทเปิดโลกดวงชะตาของตัวเองในการอาราธนาประจำวัน   ยังมีอีกหลายบทพระคาถาที่ท่านจารกำกับไว้ จะได้นำมาลงเป็นข้อมูลในโอกาสต่อไป

นะ ชา ลิ ติ  หัวใจพระสีวลี

พระสาวกผู้ที่พระพุทธเจ้าบอกว่าเป็นเอตทัคคะในทางผู้มีลาภมาก ในตำราโบราณส่วนใหญ่จะเรียกคาถานี้ว่า “หัวใจพระฉิมพลี” และในตำราพรหมชาติเรียกคาถานี้ว่าคาถามหาลาภ โดยคาถาทั้งหมดจะมีหัวใจสี่คำคือ “นะ ชา ลิ ติ” เป็นคาถาที่พระเกจิอาจารย์ผู้ทรงพุทธาคมได้นำมาใช้ลงในวัตถุมงคลกันหลายสำนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัตถุมงคลที่จะให้นำไปใช้ด้านเมตตามหานิยม โภคทรัพย์ การทำมาค้าขาย เรียกโชคลาภเงินทอง ค้าขายร่ำรวย

พุท ธะ ปิ ติ อิ  พระคาถามงกุฏพระพุทธเจ้า

“อิติปิโส วิเสเสอิ   อิเสเส พุทธะนาเมอิ

อิเมนา พุทธะตังโสอิ   อิโสตัง พุทธะปิติอิ”

คำแปล : ขออัญเชิญคุณแห่งพระพุทธเจ้าอันวิเศษ คุณแห่งกระแสพระนิพพานอันประเสริฐ ซึ่งพระพุทธเจ้าทุกพระองค์ทรงสรรเสริญแล้ว จงเป็นมหาวิภูษิตาภรณ์ประดับด้วยมงกุฎทิพย์และเครื่องทรงแห่งพระเจ้ามหาจักรพรรดิครอบคลุมข้าพเจ้าตลอดกาลทุกเมื่อเทอญ

          พระคาถามงกุฎพระพุทธเจ้า  เป็นพระคาถาที่สืบเนื่องมาจากพระพุทธศาสนา มีพุทธคุณดีครบถ้วนทุกด้าน สามารถนำไปใช้ในทางกุศลได้ทุกๆเรื่อง เรียกได้ว่าเป็นพระคาถาที่มีความศักดิ์สิทธิ์ครอบจักรวาล  ทั้งช่วยให้แคล้วคลาดปลอดภัย ป้องกันเภทภัยหรือภัยอันตราย  อุบัติเหตุ  เปลี่ยนจากหนักให้เป็นเบา จากร้ายให้กลายเป็นดี ป้องกันสิ่งไม่ดีชั่วร้าย ขับไล่เสนียดจัญไร อาถรรพ์ต่างๆ รวมถึงแก้เคล็ดปีชง เบญจเพส และราหู ทั้งยังช่วยเสริมดวง ช่วยให้มีความเป็นเลิศทางด้านเมตตามหานิยม มหาเสน่ห์ เป็นที่รักแก่มนุษย์และเหล่าเทพเทวดาทั้งหลาย ช่วยให้การติดต่อเจรจาราบรื่น การงานคล่องตัว ไร้ซึ่งอุปสรรค เรียกทรัพย์ให้ไหลมาเทมา กิจการการงานเจริญรุ่งเรือง และส่งเสริมเพิ่มพูนหนุนดวง สืบชะตา เพิ่มอำนาจวาสนาบารมี นอกจากนี้ยังช่วยให้จิตเป็นสมาธิ สงบนิ่ง อยู่ในศีลธรรม ทำให้ชีวิตพบเจอแต่หนทางสว่าง     ส่วนเคล็ดลับในการสวดคาถามงกุฏพระพุทธเจ้าให้มีความศักดิ์สิทธิ์นั้น  มีพื้นฐานจากจิตเป็นสำคัญ  หากจิตเรามีสมาธิและตั้งมั่น คาถาก็จะยิ่งมีความศักดิ์สิทธิ์และช่วยให้เห็นผลลัพธ์ได้ไว

อิ ติ ปิ โส

อิติปิโส  มีคำบาลีอยู่ 3 คำ คือ “อิติ”  “ปิ”  “โส”   พระเกจิยุคเก่านิยมเอาบท “อิติปิ โส” ไปสวดแปลงรูปเป็นต่างๆ เชื่อกันว่าจะเกิดความศักดิ์สิทธิ์     ในสมัยโบราณนั้น ผู้แก่กล้ามีวิชาอาคมมักจะนำพระคาถาอิติปิโสฯ มาพลิกแพลง  มีทั้งสวดเดินหน้า ถอยหลัง สลับไปมา หรือผูกเป็นอักขระเลขยันต์ได้หลากหลายรูปแบบ  เพื่อเป็นเคล็ดหรืออุปเท่ห์ในการใช้พระคาถาให้เกิดอานุภาพในด้านต่างๆ        เช่นหลวงปู่ศุข วัดปากคลองมะขามเฒ่านั้น ท่านสำเร็จทั้งสี่ตัว สามารถทำปาฎิหาริย์ได้ดังใจนึก   กรมหลวงชุมพรเขตต์อุดมศักดิ์สำเร็จสองตัว คือ “ อิ ติ ”  กล่าวกันว่าเพียงสำเร็จตัว อิ เพียงตัวเดียว ก็สามารถแสดงฤทธิ์ได้เป็นที่อัศจรรย์แล้ว   ซึ่ง ลพ.กวยก็ได้เรียนวิชามาจาก ลป.ศุขด้วยเช่นกัน  ท่านคงสำเร็จวิชานี้มา  ดังจะเห็นว่าท่านนิยมใช้คำว่า “อิ ติ” จารกำกับวัตถุมงคลไว้หลายรูปแบบ

สมัยโบราณนิยมใช้ พระคาถาอิติปิโสถอยหลังกันอย่างกว้างขวาง แม้แต่พระเกจิอาจารย์ดังๆหลายท่านก็ยังใช้พระคาถานี้  เช่น

  • หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง ซึ่งท่านเป็นผู้ชำนาญในการสวดพระคาถาอิติปิโสถอยหลังได้อย่างแม่นยำ
  • หลวงปู่บุญ วัดกลางบางแก้ว ที่ได้บันทึกไว้เกี่ยวกับการสวดพระคาถาอิติปิโสถอยหลัง เพื่อให้เบี้ยแก้เกิดอานุภาพ

อิ สวา สุ

หัวใจคาถาที่มาจาก ไตรสรณาคมน์  มีความสำคัญมาก เป็นบทพุทธคุณ ธรรมคุณ และสังฆคุณ   โดยอักขระ “อิสวาสุ”  นี้ ได้มาจากตัวต้นของบทสรรเสริญพระพุทธคุณ (อิติปิโสฯ) พระธรรมคุณ (สวากขาโตฯ)  พระสังฆคุณ (สุปะฏิบันโนฯ) นั่นเอง    รวมกันคือ พระพุทธ พระธรรม และพระสงฆ์ ครบองค์แห่งพระรัตนตรัย และรวมคุณแห่งเลข ก็จะได้ ๑๐๘ เท่ากับบท อิติปิโสรัตนมาลา ๑๐๘   นับถือกันว่ามีคุณวิเศษทางคุ้มครอง ป้องกันภัย และเป็นสิริมงคลอย่างยิ่ง

พุท ธะ สัง มิ

พระคาถายอดศีลนี้ ท่านวางอุปเท่ห์วิธีใช้ไว้มากมาย เป็นไปได้รอบด้าน เป็นยอดพระคาถาทางเมตตา ทางอยู่คงก็ใช้ได้ ตลอดจนจะใช้เป็นล่องหนกำบังก็ได้  ย่อมาจาก พุท ธัง สะ ระ ณัง คัจ ฉา มิ

“ พุท ” ย่อมาจาก พุทธัง หมายถึง พระพุทธเจ้า

” ธะ ” ย่อมาจาก ธัมมัง หมายถึง พระธรรม

” สัง ” ย่อมาจาก สังฆัง หมายถึง พระสงฆ์

” มิ ” มาจากคำว่า สรณังคัจฉามิ

รวมความแล้วจะเป็น พุทธังสะระนังคัจฉามิ   ธัมมังสะระนังคัจฉามิ    สังฆังสะระนังคัจฉามิ ฯลฯ

มะ อะ อุ

อักขระหัวใจพระไตรปิฎก “มะ อะ อุ” เป็นคาถาที่มีคุณอนันต์  หมายถึง พระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์  มีความศักดิ์สิทธิ์  ครูอาจารย์โบราณมักจะใช้อักขระคาถาลงใน ผ้ายันต์ ในพระเครื่อง และการสักยันต์ตามร่างกาย

    มะ – มนุสสานัง พุทโธภะคะวาติ  (ในบทพุทธคุณ)

    อะ – อกาลิโก เอหิปัสสิโก (ในบทธรรมคุณ)

    อุ – อุชุปฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ (ในบทสังฆคุณ)

ความหมายของอักขระบนเหรียญ  จะส่งผลให้มีแต่ผู้คนรักใคร่และเมตตาโดยที่ไม่ต้องรอพึ่งคุณวิเศษของวัตถุมงคลแต่เพียงอย่างเดียว อักขระทั้ง 3นี้ควรใช้ด้วยกัน ไม่เอามาใช้ในตัวใด ตัวหนึ่ง รวมความแล้ว เป็นหัวใจพระไตรปิฎก เป็นคาถาใช้ได้ทุกทาง ล้วนเป็นพลังงานแห่งพุทธะ ธรรมะ สังฆะ เป็นทั้ง พุทธานุสสติ ธรรมมานุสติ  สังฆานุสสติ.

อุ ยะ พะ

เป็นตัวย่อคาถาในหัวใจ108  ย่อมาใช้บทละ 1 ตัว

 

Share: